สภาพอากาศในจังหวัดสงขลา มืดครึ้ม ในช่วงเช้าคล้ายมีหมอกควันจางๆ ปกคลุมแสดงแดดส่องไม่ถึงพื้นที่ ทำให้ประชาชนกังวลว่า อาจจะเป็นเพราะมีหมอกควันไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้านพัดเข้ามาปกคลุมหรือไม่ โดยทางศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จังหวัดสงขลา ยืนยันว่า เป็นสภาพฟ้าหลัวชื้น และขอให้ประชาชนติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศจากเว็บไซต์ Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ สภาพอากาศในหลายพื้นที่ของจังหวัดสงขลาในช่วงหลายวันที่ผ่านมานั้น อยู่ในสภาพขมุกขมัว ท้องฟ้ามืดครึ้ม แต่อากาศร้อน แสงแดดไม่สามารถส่องลงมาถึงพื้นที่ดิน ในวันนี้ก็เช่นเดียวกัน มีหมอกจางๆ ปกคลุมในช่วงเช้า มืดครึ้มตลอดทั้งวัน ทำให้ประชาชนกังวลว่า เป็นเพราะมีหมอกควันไฟป่า ถูกลมมรสุมที่พัดปกคลุมภาคใต้ พัดหอบเข้ามาปกคลุมหรือไม่ โดยจากการตรวจสอบคุณภาพอากาศผ่านเว็บไซต์ Air4thai ซึ่งเป็นเว็บไซต์ตรวจสอบคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษนั้น พบว่า คุณภาพอากาศในภาคใต้อยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีสัญลักษณ์ สีเขียว PM2.5 ในจังหวัดสงขลา อยู่ที่ 23.3 ไมโครกรัม
นายกมล พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จังหวัดสงขลา บอกว่า สภาพอากาศในระยะนี้เป็นสภาพฟ้าหลัวชื้น โดยขอให้ประชาชนติดตามเรื่องสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะการติดตามสภาพฝุ่นควันต่างที่ เว็บไซต์ Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ ที่มีการติดตามสถานการณ์และตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิด
เพจ รายงานสถานการณ์หมอกควันในภาคใต้ ที่ดำเนินการโดย สถานวิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร รายงานว่า ในช่วงนี้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคใต้มีค่าเพิ่มสูงขึ้น (ค่าเฉลี่ย PM2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ ณ วันที่ 28 ก.ค.67 สถานี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เท่ากับ 23.2 ug/m3) โดยค่าเฉลี่ยค่าฝุ่นละออง PM2.5 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของค่าฝุ่นละออง PM2.5 ดังกล่าวนี้อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มเสี่ยง
สาเหตุการเพิ่มขึ้นของค่าฝุ่นในช่วงนี้เป็นไปได้ด้วยกันหลายปัจจัย
1.มีโอกาสความเป็นไปได้ที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันอินโดอยู่บ้าง โดยเป็นการประเมินจากแบบจำลอง HYSPLIT model ที่ลมส่วนใหญ่พัดผ่านจุดความร้อนจากประเทศอินโดนีเซียเข้าสู่ภาคใต้ของไทย (ภาพแบบจำลอง HYSPLIT model ณ วันที่ 28 ก.ค.67) นอกจากนี้ภาพถ่ายดาวเทียม NOAA 20 ที่ detected Smoke plume และ AOD ในบริเวณ ASEAN ตอนล่าง
2.จำนวนจุดความร้อนในประเทศอินโดนีเซียมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้
3.การระบายอากาศของภาคใต้ในช่วงเวลาอยู่ในเกณฑ์ “ไม่ดี-อ่อน” ทำให้การระบายมลพิษไม่ดีเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ในช่วงนี้ชั้นบรรยากาศเปิดสลับปิดและมีโอกาสเกิดฝนตก จึงส่งผลให้ความเข้มข้นฝุ่นละอองไม่สูงมากนัก
ดังนั้น แม้ค่าเฉลี่ยค่าฝุ่นละออง PM2.5 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่มีค่าเพิ่มขึ้นจากค่าปกติ ขอให้ประชาชนในภาคใต้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อการดูแลและป้องกันสุขภาพตนเอง
ทั้งนี้ สำหรับค่าฝุ่น PM2.5 จากเครื่องวัดชนิด light scattering sensor ที่เป็นชนิด Low cost จะมีความคลาดเคลื่อนในการอ่านค่าฝุ่นละอองจากเครื่องมาตรฐาน ประมาณ +/- 20% (ความน่าเชื่อถือ R2 = 0.6-0.9) โดยเฉพาะในช่วงที่มีค่าความชื้นสูง แต่ทั้งนี้ค่าที่อ่านได้จากเครื่องวัดชนิด sensor จะมีแนวโน้มเช่นเดียวกับเครื่องมือมาตรฐาน จึงสามารถใช้สำหรับติดตามและประเมินสถานการณ์ฝุ่นละอองด้วยตนเองได้ แต่ไม่สามารถใช้เป็นค่ามาตรฐานเพื่ออ้างอิงได้
เรียบเรียง matichon.co.th