ชาวบุรีรัมย์ ผวา แผ่นดินไหว 5 ครั้ง ใน 3 วัน หวั่นไม่ปลอดภัย ผู้เชี่ยวชาญ ยันไม่ใช่เป็นภัยพิบัติ

Author:

 

ชาวบุรีรัมย์ ผวา แผ่นดินไหว 5 ครั้ง ใน 3 วัน หวั่นไม่ปลอดภัย ผู้เชี่ยวชาญ ยันไม่ใช่เป็นภัยพิบัติ

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในเขตอำเภอลำปลายมาศ และจังหวัดบุรีรัมย์ โดยเฉพาะเขต ต.หินโคน และ ต.โคกล่าม อ.ลำปลายมาศ ต่างมีความรู้สึกตื่นตระหนก

หลังจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ได้พบว่ามีการสั่นสะเทือนที่ ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ระดับ 2.9 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา และมาพบว่ามีการสั่นสะเทือนที่ ต.โคกล่าม อ.ลำปลายมาศ ห่างจากจุดเดิมประมาณ 2 กม.เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ครั้งนี้ชาวบ้านรับรู้การสั่นสะเทือน ทำให้ชาวบ้านเริ่มแตกตื่น แต่ยังไม่หมดยังพบการสั่นสะเทือนตามมาอีกหลายครั้ง โดยสรุปมาจนถึงเช้าวันที่ 25 กรกฎาคม

พบว่ามีการสั่นสะเทือนรวมแล้ว 5 ครั้งในห้วง 3 วัน ในเขตบริเวณเดียวกัน ครั้งแรกเมื่อเวลา 14.54 น. วันที่ 22 กรกฎาคม พิกัด ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ วัดได้ 2.9 ริกเตอร์ ลึก 1 กม. พิกัด 5.073°N, 102.832°E

ครั้งที่ 2 เวลา 18.01 น. วันที่ 24 กรกฎาคม วัดได้ 3.0 ริกเตอร์ ลึก 1 กม. พิกัด ต.โคกล่าม อ.ลำปลายมาศ พิกัด 15.086°N, 102.831°E

ครั้งที่ 3 เวลา 18.39 น. วันที่ 24 กรกฎาคม พิกัด ต.โคกล่าม อ.ลำปลายมาศ วัดได้ 1.9 ริกเตอร์ ลึก 1 กม. พิกัด 5.086°N, 102.831°E

ครั้งที่ 4 เวลา 05.34 น. วันที่ 25 กรกฎาคม ที่ ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ วัดได้ 1.7 ริกเตอร์ ลึก 1 กม. พิกัด 15.054°N, 102.843°E

และครั้งที่ 5 เวลา 05.34 น. วันที่ 25 กรกฎาคม ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ วัดได้ 1.7 ริกเตอร์ ลึก 1 กม. พิกัด 15.054°N, 102.843°E

นางกนก ศรีคุณ อายุ 61 ปี ชาวบ้านโนนงิ้ว หมู่ 8 ต.หินโคน บ้านอยู่ใกล้พิกัดประมาณ 100 เมตร เล่าว่า ไม่รู้ว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น หลังจากทราบข่าวจึงมาคิดย้อนหลังตอนที่ตนยืนอยู่แล้วมีการสั่นสะเทือนเหมือนรถสิบล้อวิ่งผ่านใกล้ๆ จึงคิดว่าน่าจะเป็นอาการของแผ่นดินไหว ครั้งแรกที่ได้ยินข่าวไม่ค่อยสนใจ แต่ตอนนี้เริ่มกลัวว่าจะรุนแรงขึ้นอีกเพราะเกิดแล้วถึง 4 ครั้ง

ด้าน ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนไม่ได้ตั้งใจจะมาตรวจสอบแผ่นดินไหว แต่บ้านพ่อ-แม่อยู่บริเวณนี้ จึงออกมาทำความเข้าใจให้กับชาวบ้าน

ศ.ดร.สันติกล่าวด้วยว่า จากการที่ได้คุยกับผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ได้ข้อมูลที่มีนัยในทางธรณีวิทยาว่า พื้นที่แถบนี้มีลักษณะของความเค็ม คือข้างใต้น่าจะมีความเค็มอยู่บ้าง มีโอกาสที่จะเป็นโพรงอยู่บ้าง ถ้าระดับน้ำใต้ดินลดลงจนทำให้เป็นโพรง ทำให้เกิดดินทรุดตัวลงได้ ความทรุดทำให้มีโอกาสแผ่นดินไหวได้ ซึ่งแผ่นดินไหวเกิดจากการทรุดตัวของพื้นที่

สิ่งที่อยากจะย้ำต่อประชาชนว่า ถ้าเป็นแผ่นดินไหวเกิดจากการทรุดตัวของพื้นที่ไม่เป็นภัยพิบัติหรือพิบัติภัย อนาคตหลังจากนี้อาจจะเป็น 1 วันหรือเป็นอาทิตย์ก็มีโอกาสเกิดขึ้นอีกได้ แต่จะไม่แย่ขึ้นอย่างแน่นอนสบายใจได้

ทั้งนี้ ชาวบ้านไม่ควรกังวลจนเกินไป ถ้ามองแล้วเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กแรงสั่นสะเทือนไม่สร้างภัยพิบัติ หรือรุนแรงกว่านี้

สำหรับจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่ของภูเขาไฟ แต่เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้วโอกาสที่จะเกิดจากภูเขาไฟนั้นโอกาสแทบจะกลายเป็นศูนย์ เพราะหากเกิดจากภูเขาไฟ เขาจะไม่มาเพียงเหตุการณ์เดียวคือจะมีสิ่งบ่งบอกมากกว่า 2 เหตุการณ์

เรียบเรียง matichon.co.th