“คารม” ขอ ปชช.มั่นใจความปลอดภัยน้ำประปา ด้าน “กปน.” เผยกระบวนการผลิตน้ำมีชั้นของแอนทราไซต์ – ทรายกรอง ดักจับอนุภาคขนาดเล็กได้ ไม่พบการปนเปื้อนโปรโตซัว
เมื่อวันที่ 13 ก.ค. นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการส่งต่อข้อความเกี่ยวกับพบสารปนเปื้อนอันตรายในน้ำประปานั้น ทางการประปานครหลวง กระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจสอบ และชี้แจงว่า กปน. เฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาเส้นท่อจ่ายน้ำตามบ้านผู้ใช้น้ำครอบคลุมทุกพื้นที่บริการ มีแผนงานและเป้าหมายการตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาตามค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก ทั้งด้านกายภาพ เคมี แบคทีเรีย สารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น โลหะหนัก สารพิษทางการเกษตร สารก่อมะเร็ง (ไตรฮาโลมีเทน) สารกัมมันตภาพรังสี และเชื้อก่อโรคต่าง ๆ ทั้งกลุ่มแบคทีเรีย ได้แก่ แบคทีเรีย โปรโตซัว ไวรัส เป็นต้น จำนวนมากกว่า 100 รายการ โดยนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์ ณ ห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025
นายคารม กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ยังประสานให้ห้องปฏิบัติการภายนอกตรวจยืนยันคุณภาพน้ำประปา เพื่อสร้างความมั่นใจว่า น้ำประปาที่ส่งถึงบ้านผู้ใช้น้ำสะอาด ปลอดภัยตลอดเวลา และยังมีศูนย์บูรณาการคุณภาพน้ำเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปา ผ่านสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำประปาอัตโนมัติแบบ Real time ที่ติดตั้งโดยรอบพื้นที่จ่ายน้ำ พร้อมทั้งระบบจ่ายคลอรีนปลายสายติดตั้งที่สถานีสูบจ่ายน้ำ เพื่อควบคุมให้น้ำประปามีคลอรีนอิสระคงเหลือในปริมาณที่เหมาะสม
นายคารม กล่าวว่า สำหรับสารปนเปื้อนอื่น ๆ กปน. ได้ชี้แจงตามรายการที่สอบถาม ดังนี้ สาร PFOS (Perfluorooctanesulfonic acid) และ PFOA (Perfluorooctanoic acid) ซึ่งเป็นสารเคมีในตระกูล PFAS (per- and polyfluoroalkyl substances) ที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม มีคุณสมบัติลดแรงตึงผิว สามารถไม่ให้น้ำและไขมันยึดเกาะได้ จึงมักใช้ในการเคลือบผิวผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน โฟม สารเคลือบกระทะ เสื้อผ้าที่กันเปื้อน แชมพู และโฟมดับเพลิง อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปได้ออกระเบียบห้ามใช้สาร PFOS ในผลิตภัณฑ์ รวมทั้งประเทศไทยออกประกาศให้สารกลุ่มนี้เป็นสารอันตรายประเภท 4 คือห้ามใช้ แต่ใช้ได้เฉพาะในอุตสาหกรรมชุบโลหะซึ่งต้องขออนุญาต และรายงานการใช้ และการจัดการของเสีย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในประเทศไทยจึงเลิกใช้สารกลุ่มนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จากสถิติของกรมโรงงานมีการนำเข้าสารกลุ่มนี้น้อยกว่า 300 กิโลกรัมต่อปี ดังนั้น สาร PFOS จึงมีโอกาสการปนเปื้อนในแหล่งน้ำต่ำมาก
นายคารม กล่าวว่า สำหรับยาปฏิชีวนะต่างๆ นั้นปนเปื้อนในธรรมชาติมีปริมาณน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ส่งผลโดยตรงต่อร่างกายมนุษย์ อีกทั้งแหล่งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำของ กปน. ไม่ใช่แหล่งน้ำปิด เป็นแหล่งน้ำที่มีการไหลเวียนตลอดเวลาจึงไม่เกิดการสะสมของยาปฏิชีวนะ ในต่างประเทศและในประเทศไทย ยังไม่ได้กำหนดค่ามาตรฐานหรือเกณฑ์ควบคุมในสารกลุ่มดังกล่าว และไม่มีห้องปฏิบัติการในประเทศที่ตรวจวิเคราะห์สารกลุ่มยาปฏิชีวนะในน้ำ ส่วนไมโครพลาสติก คือ อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร (5,000 ไมครอน) มักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของพลาสติกต่าง ๆ ที่ใช้ในครัวเรือนและอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์ เม็ดสครับในเครื่องสำอางและยาสีฟัน ส่วนใหญ่มีรูปร่างทรงกลม ทรงรี เส้นตรงหรือบางครั้งมีรูปร่างไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม ไมโครพลาสติกยังไม่มีการพัฒนาวิธีการวิเคราะห์หาปริมาณที่เป็นมาตรฐาน ยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ควบคุม และยังขาดการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบต่อมนุษย์ที่เพียงพอ
“กปน. ได้มีการทำวิจัยร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อศึกษาขนาด ปริมาณ และชนิดของไมโครพลาสติก ตลอดกระบวนการผลิตน้ำประปา โดยน้ำประปาของการประปานครหลวงนั้น พบว่า กระบวนการกรองในกระบวนการผลิตน้ำประปาของ กปน. มีชั้นของแอนทราไซต์และทรายกรองที่สามารถดักจับอนุภาคขนาดเล็กได้ ดังนั้น โอกาสที่น้ำประปาจะมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกจึงมีน้อยมาก
Cryptosporidium, Giardia และ Cyclospora เป็นโปรโตซัวที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร ทำเกิดโรคอุจจาระร่วงอย่างเฉียบพลัน พบได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ สามารถตรวจพบโปรโตซัวระยะ cyst หรือ oocyst ได้ โดยระยะติดต่อจะมีความทนทานได้ดีต่อสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โดย Oocyst ของ Cryptosporidium มีลักษณะค่อนข้างกลม ขนาดประมาณ 4-6 ไมครอน ส่วน Giardia มีลักษณะ Oocyst เป็นรูปไข่ ขนาด 8-14 ไมครอน และ Cyclospora มี Oocyst ขนาด 8-10 ไมครอน ซึ่ง กปน. มีการเฝ้าระวังโปรโตซัวก่อโรคชนิดนี้โดยการส่งวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำดิบ และน้ำประปาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลการวิเคราะห์ที่ผ่านมาไม่พบการปนเปื้อนโปรโตซัวดังกล่าว” นายคารม ย้ำ