กรมศิลป์ชวนลุ้น ‘ภูพระบาท’ ขึ้นมรดกโลก 27 ก.ค.-อุดร เตรียมพร้อมจัดฉลองใหญ่
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้มอบหมายให้ น.ส.ขนิษฐา โชติกวณิชย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย ที่เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ระหว่างวันที่ 21 – 31 กรกฎาคม นั้น
ล่าสุดได้รับรายงานว่า ในการประชุมวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ที่ประชุมจะมีการพิจารณาการนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานีของประเทศไทย ขึ้นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในช่วงบ่ายตามเวลาท้องถิ่นของอินเดียซึ่ง ซึ่งช้ากว่าเวลาในประเทศไทยประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลไทยได้มอบหมายให้กรมศิลปากร เตรียมความพร้อมในการจัดแถลงข่าวการประกาศขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทจังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกในเวลา 14:00 น. ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โดยมีพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการแถลงข่าว พร้อมด้วย น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิธี
สำหรับการแถลงข่าวครั้งนี้ จะมีการถ่ายทอดสัญญาณจากห้องประชุมขณะประกาศขึ้นทะเบียน ระหว่างนั้นจะมีกล่าวถึงความเป็นมาของการนำเสนอการขึ้นทะเบียนการขอขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก ประวัติความเป็นมา ความสำคัญของแหล่งโบราณสถานที่มีความเชื่อมโยงความเป็นสากลตามหลักเกณฑ์การประกาศขึ้นทะเบียนของยูเนสโก การบูรณาการและร่วมกันผลักดันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ในการนำเสนอต่อยูเนสโก นำมาสู่การประกาศขึ้นทะเบียนจนประสบความสำเร็จ เมื่อมีการรับรองอย่างเป็นทางการ จะมีการกล่าวแสดงความยินดีจากรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการวธ. ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย ซึ่งการขึ้นทะเบียนดังกล่าว จะถือเป็นมรดกโลกแหล่งที่ 8 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมลำดับที่ 5 ต่อจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา
กรมศิลปากรได้เตรียมความพร้อมรองรับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเบื้องต้น โดยได้หารือกับจ.อุดรธานีในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ในฐานะเมืองมรดกโลกถึง 2 แห่ง ประกอบด้วย แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดอุดรธานีและประเทศไทย
ทั้งนี้ ได้เตรียมการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวด้วยการเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวทั้งการจัดเตรียมรถรางไฟฟ้า จุดจอดรถรถ การดูแลอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยในการเดินทางของนักท่องเที่ยว การปิดป้ายสัญลักษณ์ทางเดิน และความสำคัญของพื้นทรา เนื่องจากเป็นกลุ่มเพิงหิน ใบเสมา ลานประกอบพิธีทางศาสนา พร้อมเชิญชวนชาวไทยร่วมติดตามให้ลุ้นผลการประกาศขึ้นทะเบียนครั้งประวัติศาสตร์ไปพร้อมกัน
เรียบเรียง matichon.co.th